Reichstag Fire (-)

การเผาสภาไรค์ชตาก (-)

การเผาสภาไรค์ชตากเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* และพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* สามารถรวบอำนาจเผด็จการและล้มล้างระบอบสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๓)* ได้สำเร็จ การเผาสภาไรค์ชตากเกิดขึ้นในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๓ หลังจากฮิตเลอร์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐไวมาร์ได้ไม่ถึงเดือน สภาไรค์ชตากถูกไฟไหม้เสียหายอย่างหนักรัฐบาลอ้างว่าเหตุการณ์วางเพลิงครั้งนี้เป็นสัญญาณการก่อการร้ายของพวกคอมมิวนิสต์ที่จะเกิดขึ้นในเยอรมนีประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* จึงออกกฤษฎีกาเพี่อพิทักษ์ประชาชนและรัฐ (Decree for the Protection of the People and the state) ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ กฤษฎีกาฉบับนี้ล้มเลิกสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเปิดทางให้ฮิตเลอร์และพรรคนาซีสร้างฐานอำนาจเผด็จการและทำให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐตำรวจในที่สุด

 ก่อนเกิดเหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก สภาไรค์ชตากอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ และปลอดผู้คน ในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธระหว่างเวลาประมาณ ๒๐.๓๐-๒๐.๕๐ น. ทั้งยามที่เฝ้าอาคารและบุรุษไปรษณีย์ที่เข้าไปในสภาไรค์ชตากไม่พบสิ่งผิดปรกติใด ๆ จนกระทั่งเวลา ๒๑.๐๕ น. นักเรียนคนหนึ่งซึ่งเดินผ่านมาได้สังเกตเห็นชายคนหนึ่งถือคบเพลิงตรงช่องหน้าต่างชั้นล่างของสภาฯ แต่เขาก็ไม่ได้แจ้งเรื่องนี๋ให้ผู้ใดทราบ อีก ๑๐ นาที ต่อมามีควันไฟพวยพุ่งจากอาคารรัฐสภา สถานีดับเพลิงกรุงเบอร์ลินได้รับสัญญาณแจ้งเพลิงไหม้และมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุในเวลาอันรวดเร็ว แต่เพลิงได้โหมลุกไหม้ทั่วทั้งอาคาร เวลา ๒๑.๓๐ น. มีเสียงระเบิดกึกกองในห้องโถงกลางซึ่งปกคลุมด้วยเปลวไฟ เพลิงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วจนเกินกำลังควบคุม แม้ว่าพนักงานดับเพลิงจะพยายามดับไฟอย่างเต็มที่ แตไม่นานอาคารซึ่งถูกไฟไหม้ก็เหลือแต่กำแพงไม่กี่นาทีต่อมา ตำรวจสามารถจับชายชาวดัตช์ซื่อมารีนุส ฟาน เดอร์ ลูบบ์ (Marinus van der Lubbe) ในสภาพร่างกายครึ่งเปลือยและมีอาการงงงวยได้ในที่เกิดเหตุ

 เมื่อฮิตเลอร์และแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานและมาถึงที่เกิดเหตุ ฮิดเลอร์แสดงท่าทียินดีและอุทานว่า “นี่คือสัญญาณจากพระเจ้า” ส่วนเกอริงกล่าวหาพวกคอมมิวนิสต์ทันทีว่าเป็นผู้วางเพลิง ก่อนรุ่งสางของวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พวกคอมมิวนิสต์จำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ คน


รวมทั้งปัญญาชนและบุคคลที่เคยก่อความแค้นเคืองให้แก่พรรคนาซีได้ถูกจับกุมคุมขัง ต่อมา ฮิตเลอร์ ก็เข้าพบประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนบูร์กเพื่อเร่งรัดให้ประธานาธิบดีมอบอำนาจเด็ดขาดให้เขา ประธานาธิบดีซึ่งมีอายุถึง ๘๖ ปีถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่าประเทศใกล้จะเกิดการปฏิวัติโดยพวกคอมมิวนิสต์จึงยินยอมลงนามในกฤษฎีกา เพื่อพิทักษ์ประชาชนและรัฐซึ่งลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กฤษฎีกาฉบับนี้ยังมอบอำนาจให้รัฐบาลกลางควบคุมรัฐใดก็ตามที่ไม่สามารถรักษาความสงบไว้ใด้ ทั้งสามารถสั่งประหารหรือจำคุกผู้กระทำความผิดในหลายกรณีรวมทั้งตั้งข้อหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วย เช่น ข้อหาการต่อต้านกฤษฎีกา นอกจากนี้ กฤษฎีกาไม่ได้มีบทบัญญัติใด ๆ ในการประกันสิทธิผู้ที่ถูกจับกุม ทำให้ผู้ถูกจับมักจะถูกขังลืมโดยไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ได้รับคำแนะนำด้านกฎหมาย และไม่มีการชดเชยในกรณีที่ไม่ได้กระทำผิด เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี่ เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เพียงไม่กี่วันหลังการประกาศใช้กฤษฎีกา พวกนาซีใช้เหตุการณ์ไฟไหม้เป็นข้ออ้างในการกวาดล้างศัตรู ในสัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครจากพรรคสังคมประชาธิปไตย เยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ไม่สามารถหาเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพกองกำลังหน่วยเอสเอ (SA)* และเอสเอส (SS)* ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหน่วยตำรวจเฉพาะกิจก็เริ่มจับกุมพวกสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ รวมทั้งปิดหนังสือพิมพ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคนาซี พวกนาซีเข้าควบคุมคลื่นวิทยุและโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Göbbels)* ข้าหลวงเขตเบอร์ลินใช้คลื่นวิทยุเหล่านี้โจมตีพวกยิวคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่าง ๆ กองกำลังเอสเอยังก่อกวนและทำลายการประชุมของพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกด้วย

 แม้จะมีการใช้มาตรการรุนแรงต่อพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่พวกนาซีก็ยังไม่ได้เสียงข้างมากถึง ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลง


รัฐธรรมนูญ ฮิตเลอร์จึงแก้ปัญหาด้วยการสั่งจับกุมพวกคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ทั้งใช้กฤษฎีกาในการควบคุมรัฐที่มีการต่อต้านพรรคนาซีโดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สามารถรักษาระเบียบ โดยแท้จริงแล้วผู้ที่ก่อการไม่สงบคือพวกเอสเอและเอสเอสที่เสพสุรามึนเมา รัฐบาลกลางได้เข้าควบคุมรัฐบาลรัฐต่าง ๆ เช่น เวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) บาเดิน (Baden) เบรเมิน (Bremen) ฮัมบูร์ก (Hamburg) ลือเบค (Lübeck) แซกโซนิ (Saxony) เฮสเซิน (Hessen) บาวาเรีย ต่อมา ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ สภาไรค์ชตากได้ลงมติผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ด้วยเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองแทบทุกพรรคยกเว้นพรรคเอสพีดี ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ถูกยุบก่อนหน้านี้แล้วซึ่งทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้เผด็จการสูงสุดโดยไม่มีใครสามารถยับยั้งอำนาจของเขาได้

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๓ มีการไต่สวนสาธารณะที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เพื่อพิสูจน์ข้อหาการวางเพลิงเผาสภาไรค์ชตากของพวกคอมมิวนิสต์ จำเลยนอกจากฟาน เดอร์ ลูบบ์ แล้วก็มีทอร์เกลอร์ (Torgler) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในสภาไรค์ชตากซึ่งยอมมอบตัวรวมทั้งสมาชิกคอมมิวนิสต์บัลแกเรียอีก ๓ คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ เกออร์กี ดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov)* หัวหน้าของหน่วยงานลับคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี การไต่สวนซึ่งมีผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าร่วมฟังการพิจารณาด้วยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่เกอริงคาดหวังไว้ ดิมีทรอฟซึ่งถูกคุมขังระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ต้องขึ้นศาลหลายครั้ง เขาใช้ความฉลาดเฉลียวแก้ข้อกล่าวหาและสามารถยั่วโทสะของเกอริงให้ระเบิดอารมณ์ออกมาจนทำให้ดูเหมือนว่าพวกนาซีต่างหากที่เป็นผู้กระทำผิด นอกจากนี้ เกอริงถูกเย้ยหยันจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ในที่สุดผู้ถูกกล่าวหาทุกคนรวมทั้งทอร์เกลอร์ที่ถูกคุมขังในค่ายกักกันเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้รับการปล่อยตัว ยกเว้นฟาน เดอร์ ลูบบ์ ส่วนดิมีทรอฟซึ่งพันโทษในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ เดินทางกลับรัสเซียและได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๓ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีบัลแกเรีย

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ มีการจัดการไต่สวนสาธารณะเพื่อล้อเลียนขึ้นที่กรุงลอนดอน พวกเสรีนิยมและสังคมนิยมได้ใช้เรื่องนี้โฆษณาต่อต้านพวกนาซี แม้ว่าการไต่สวนในเยอรมนีจะเป็นเรื่องไม่ถูกต้องในทัศนะของชาวต่างชาติแต่การไต่สวนดังกล่าวก็กระตุ้นชาวเยอรมันให้เกิดความตื่นตระหนกต่อภัยคอมมิวนิสต์เป็นผลให้พวกนาซีสามารถกระชับอำนาจได้มากยิ่งขึ้นในขณะเดียวกันพวกนาซีก็ได้รับบทเรียนจากการพิจารณาคดีโดยเป็ดเผย ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๔ การสอบสวนคดีจากการทรยศต่อชาติก็ถูกเปลี่ยนจากศาลฎีกาไปสู่ศาลประชาชน (People’s Court) ซึ่งจัดขึ้นโดยมีผู้พิพากษาอาชีพ ๒ คนพิจารณาคดีร่วมกับผู้แทนจากพรรคนาซีพวกเอสเอสหรือจากกองทัพบกซึ่งผู้ต้องหาไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำตัดสิน

 ประเด็นสำคัญที่ยังคงเป็นข้อโต้แย้งจนถึงทุกวันนี้ คือ ใครเป็นผู้วางเพลิงหรืออยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ แม้ว่า ฟาน เดอร์ ลูบบ์จะอ้างความรับผิดชอบ แต่เขาเป็นคนที่สติไม่สมประกอบและมีประวัติอ้างความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาเองไม่ได้กระทำมาแล้ว ในระหว่างการสอบสวน เขายืนกรานรับผิดชอบแต่ผู้เดียวและแสดงท่าทีแค้นเคืองต่อความพยายามใด ๆ ที่จะช่วยให้เขาหลุดพันจากข้อกล่าวหาดูเหมือนว่าเขามีอาการป่วยทางจิตที่ต้องการแสวงหาทั้งชื่อเสียงและบทบาทของผู้ตกเป็นเหยื่อ อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่ฟาน เดอร์ ลูบบ์จะปฏิบัติการทุกอย่างโดยลำพังคนเดียว เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตากสะท้อนว่ามีการวางแผนอย่างดีและทำอย่างรวดเร็ว มีการเตรียมการล่วงหน้าโดยใช้เคมีภัณฑ์ที่ติดไฟง่ายซึ่งทำให้ไฟลุกอย่างรวดเร็วทำให้ฟาน เดอร์ ลูบบ์เพียงถือคบไฟวิ่งรอบสภาไรค์ชตากไฟก็ลุกขึ้นแล้ว แต่ก็มีข้อน่าสงสัยว่าผู้ใดจะสามารถเตรียมการในเวลาอันจำกัดเช่นนั้นได้โดยเฉพาะฟาน เดอร์ ลูบบ์ ซึ่งสายตาผิดปรกติและเห็นลางเลือน เพราะเขาเคยถูกเพื่อนคนงานเอาถุงที่เต็มไปด้วยผงฝุ่นชอล์กคลุมศีรษะซึ่งมีผลให้ดวงตาพิการถาวร เขาสามารถอ่านหนังสือได้ในระยะเพียง ๒ นิ้วเท่านั้น ทั้งยังดำเนินชีวิตเพียงแค่พอรอดตัวบุคลิกภาพดังกล่าวของเขาจึงขัดแย้งกับการเผาสภาไรค์ชตากซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ลื่นไหลและรวดเร็ว

 ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือน่าจะเป็นพวกนาซีที่ทำการเผาสภาไรค์ชตากเสียเอง เพราะต้องการทำให้เยอรมนีเข้าสู่ยุคเผด็จการทันที แม้จะเป็นการยากที่จะหาหลักฐานพิสูจน์แต่ก็มีหลักฐานจากเหตุการณ์ที่บ่งชี้ไปที่พวกนาซี เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการเผาสภาไรค์ชตาก ฟาน เดอร์ ลูบบ์ ถูกพวกเอสเอ ๒ คนคุมตัวไว้ อีกทั้งเมื่อถูกถามจากชาวดัตช์ ฝ่ายขวาคนหนึ่งว่าพวกเอสเอมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ คาร์ล แอนสท์ (Karl Ernst) หัวหน้าพวกเอสเอในกรุงเบอร์ลินตอบว่า “หากตอบว่าใช่ ผมจะเป็นคนโง่บัดซบ แต่หากตอบว่าไม่ ผมจะเป็นคนโกหกมดเท็จ” (If I said Yes, I’d be a bloody fool, if I said no, I’d be a bloody liar) นอกจากนี้ พวกเอสเอยังมีอุปกรณ์ในการวางเพลิง เพราะพวกนี้มักจะเผาแผ่นป้ายหาเสียงของกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า สมาชิกหน่วยเอสเอเป็นผู้ก่อเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตากไม่สำคัญเท่ากับผลที่ติดตามมาเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์สามารถใช้อำนาจเผด็จการปกครองเยอรมนีและก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรือฟือเรอร์ (Führer)* ในเวลาต่อมา.



คำตั้ง
Reichstag Fire
คำเทียบ
การเผาสภาไรค์ชตาก
คำสำคัญ
- กฎหมายที่ให้อำนาจ
- การเผาสภาไรค์ชตาก
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- ค่ายกักกัน
- ดิมีทรอฟ, เกออร์กี
- บัลแกเรีย
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ฟาน เดอร์ ลูบบ์, มารีนุส
- ฟือเรอร์
- ลูบบ์, มารีนุส ฟาน เดอร์
- ศาลประชาชน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาไรค์ชตาก
- เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชด์
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-